ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เร่งจัดทัพผู้บริหาร ศธ. กว่า 20 อัตรา
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อดำเนินการสรรหาผู้บริหารระดับต้น แทนตำแหน่งว่าง 5 อัตรา คือ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) 1 ตำแหน่ง และรองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 2 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) 1 ตำแหน่ง และรองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 1 ตำแหน่ง
คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เมื่อดำเนินการสรรหาผู้บริหารระดับต้น เรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการสรรหาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งระดับอำนวยการสูง สักนักงานปลัด ศธ. อีก 3 อัตรา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักตรวจติดตาม ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก
จากนั้นจะดำเนินการสรรหาตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง คือ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และรองเลขาธิการ กพฐ.แทนตำแหน่งว่าง เพื่อให้การทำงานเกิดความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณาเลือกผู้เหมาะสม ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กอศ.และรองเลขาธิการ กพฐ.ได้แล้ว ก็ไม่ต้องดำเนินการ เพราะถือเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่หากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่พิจารณา สำนักงานปลัด ศธ.ก็ต้องดำเนินการสรรหาผู้เหมาะสมเพื่อให้การดำเนินการเกิดความต่อเนื่อง
ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาสรรหา ศธภ.ให้ครบทั้ง 12 ตำแหน่ง ตามที่กำหนดไว้ โดยที่ผ่านมา มีการแต่งตั้ง ศธภ. แล้ว 5 อัตรา ส่วนที่เหลือให้ผู้ตรวจราชการ ศธ.เข้าไปช่วยดูแล ทำให้การดำเนินการไม่คล่องตัวเท่าที่ควร
ดังนั้นจึงเห็นว่าควรแต่งตั้ง ศธภ. ให้ครบทั้ง 12 ตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 พ.ศ.2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.
“สาเหตุที่ต้องเร่งดำเนินการแต่งตั้ง ศธภ.ให้ครบทั้ง 12 ตำแหน่งตามที่กำหนดไว้นั้น เพราะงานนโยบายบางอย่าง ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของผู้ตรวจราชการ ศธ. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจติดตามงานตามแผนปฏิบัติการของ ศธ. รวมถึงให้คำแนะนำและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน แต่การทำงานเชิงพื้นที่ สำนักงานปลัด ศธ.ไม่มีเครื่องมือในการทำงาน จึงต้องอาศัย ศธภ. และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งที่ผ่านมาขาดการพัฒนาคนก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ทำให้การทำงานที่ผ่านมาอาจยังไม่ชัดเจน เกิดความขัดแย้ง ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจ อำนาจหน้าที่และกรอบการทำงานระหว่าง ศธภ. ศธจ. และ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเกิดการบูรณาการเชื่อมโยงกับพื้นที่ ซึ่งต่อไปจะต้องมีตัวชี้วัด เพื่อประเมินผลงานทั้งเชิงพื้นที่และนโยบาย เพื่อให้เกิดการผลักดันงบประมาณจากพื้นที่ เพื่อพัฒนาการศึกษา ในกลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ ไม่ใช่รอแต่งบประมาณส่วนกลางเพียงอย่างเดียว” นายอรรถพลกล่าว
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ bellaroseevents.com